วันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555


ละครยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance)

ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance : คริสตศตวรรษที่ 15-17)-นีโอคลาสสิค (Neo-Classic : คริสตศตวรรษที่ 17)

ภูมิหลังทั่วไป

อารยธรรมตะวันตกผ่านช่วงยุคมืด ระหว่าง คริสตศตวรรษที่ 5 ถึง คริสตศตวรรษที่ 15 หลังจากที่อาณาจักรโรมันล่มสลายไปเพราะอนารยชนเข้ารุกราน ในช่วงยุคมืดหรือยุคกลาง มีเหตุการณ์ที่สำคัญที่เกิดขึ้น คือ
1. การก่อกำเนิดของระบบศักดินาสวามิภักดิ์หรือระบบฟิวดัล (Feudalism) - เป็นการปกครอง ระหว่างขุนนางเจ้าของที่ดิน และ ชาวไร่ชาวนาผู้เช่าที่ดินโดยตรง ทั้งนี้ กษัตริย์ มีอำนาจปกครองขุนนางทั้งหลาย แต่จะไม่ก้าวก่ายการปกครองในเขตที่ดินของขุนนางโดยตรง
2. พระ มีสิทธิในการเก็บภาษีเพื่อสนับสนุนศาสนา มีอำนาจในการวางนโยบายเศรษฐกิจเช่น เรื่องดอกเบี้ย การค้ากำไร (ผ่านการตีความคำสอนในศาสนา)และเป็นเจ้าของที่ดิน ได้ จึงมีอำนาจและความมั่งคั่งมาก อารามในศาสนจักร เป็นแหล่งที่ให้การศึกษาแก่ชนชั้นสูง ดังนั้น คริสตจักร โดยรวม จึงมีอำนาจเหนือกว่าสถาบันกษัตริย์มาก

อย่างไรก็ตาม ระบอบต่าง ๆ ของยุคกลาง ล่มสลายไป ก้าวสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
และยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ เนื่องจาก
1. เกิดกาฬโรคระบาด (The Black Death)ใน คริสตศตวรรษที่ 14 ทำให้แรงงานหายาก ทาสติดที่ดินจึงมีโอกาสต่อรองขออิสรภาพจากเจ้านาย แลกกับการใช้แรงงาน ทำให้เกิดมีเสรีชนมากยิ่งขึ้น
2. สงครามครูเสด (Crusade Wars) ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 11-13 (8ครั้ง ตั้งแต่ ค.ศ. 1096-1270) ระหว่างชาวคริสต์และพวกเติร์กชาวมุสลิม เพื่อแย่งดินแดนซีเรียและปา-เลสไตน์ ทำให้อัศวินเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก กษัตริย์จึงมีอำนาจมากขึ้นแทนที่ขุนนาง โดยการสนับสนุนของพ่อค้าและชนชั้นกลางที่ต้องการความสะดวกในการค้าขาย ที่เคยมีอุปสรรคเพราะอิทธิพลและอภิสิทธิ์ของขุนนาง นอกจากนี้ สงครามครูเสด ยังทำให้เมืองท่าในยุโรป เช่น เวนิส เจนัว และฟลอเรนซ์ขึ้นมามีอำนาจและความมั่งคั่งทางการค้าแทนกรุงคอนสแตนติโนเปิล (ในตุรกีปัจจุบัน) และจึงกลายเป็นศูนย์กลางของศิลปและวัฒนธรรมต่อไปด้วย สงครามครูเสด ยังทำให้ชาวยุโรปพัฒนาความรู้ด้านการเดินเรือทางทะเล เพราะชาวมุสลิม มีชัยเหนือเอเชียไมเนอร์ ทำให้ชาวยุโรปเดินทางทางบกผ่านไปยังเอเชียไม่ได้


ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ เริ่มต้นประมาณคริสตศตวรรษที่ 15 และสิ้นสุดลงประมาณคริสตศตวรรษที่ 17 (รวมราว 300 ปี) คำว่า Renaissance เป็นภาษาฝรั่งเศส แปลว่า “การเกิดใหม่” หมายถึง การรื้อฟื้นอารยธรรมคลาสสิคของกรีกและโรมันขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ยุคนี้ เปลี่ยนแปลงจากยุคกลาง ที่มุ่งเน้นการสอนให้คนยอมรับชะตากรรมตามที่เป็น สู่ ยุคสมัยที่ยกย่องเห็นคุณค่าของชีวิตมนุษย์ ในลักษณะที่เน้นมนุษยนิยม (humanism) มากยิ่งขึ้น กล่าวคือ มีความเชื่อในความก้าวหน้าและความสร้างสรรค์ของปัจเจกบุคคล ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการค้า เป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูศิลปวิทยาการ เพราะมีการติดต่อค้าขายกับกรีก รวมทั้งเป็นที่ตั้งของอาณาจักรโรมันโบราณ ความรู้ในยุคนี้ แพร่หลายได้มากขึ้น เพราะมีความเจริญของการพิมพ์ประกอบกัน โดยมีการประดิษฐ์แท่นพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรกใน ค.ศ. 1448 ที่เยอรมนี ทำให้หนังสือราคาถูกลง ในส่วนของวรรณกรรมและปรัชญา จึงมีนักคิดและนักเขียนเกิดขึ้นหลายคน ตัวอย่างเฉพาะในด้านการละคร ในประเทศอังกฤษ เช่น วิลเลียม เช็คสเปียร์ และ คริสโตเฟอร์ มาร์โลว์

วิทยาการในด้านการพิมพ์ ทำให้มีการพิมพ์พระคริสตธรรมคัมภีร์กันอย่างแพร่หลาย จนชาวบ้านธรรมดาที่สิทธิครอบครองและศึกษาได้ และในที่สุด มีการแปลจากภาษากรีกโบราณ ออกมาเป็นภาษาพื้นถิ่น เช่น ภาษาเยอรมัน ในที่สุด จึงนำสู่การปฏิรูปศาสนาเป็นนิกายโปรเตสแตนท์แยกจากนิกายโรมันคาธอลิคที่ปกครองโดยพระสันตปาปา ซึ่งเป็นที่เสื่อมศรัทธาลง กษัตริย์หลายประเทศ เริ่มแยกตัวออกจากอำนาจของพระสันตปาปา

ในส่วนของสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และ จิตรกรรม ศิลปิน ได้ศึกษางานจากยุคกรีกและโรมันโบราณ มาประยุกต์สร้างสรรค์งาน ศิลปินที่มีชื่อเสียงในยุคนี้ เช่น ลีโอนาร์โด ดาร์วินชี, ไมเคิล แอนเจโล, และ ราฟาเอล

วิทยาการในยุคนี้ ก้าวหน้ามากขึ้น จากการศึกษาความรู้ต่าง ๆ ของ กรีกและโรมันโบราณ แล้วนำมาคิดค้นพัฒนาต่อด้วยวิทยาศาสตร์แห่งการทดลองและเหตุผล (ตามปรัชญาแนวคิด ของ เบคอน และ เดส์การ์ต) จนทำให้โลกตะวันตกก้าวสู่ยุคแห่งความสว่าง (Age of Enlightenment) ในคริสตศตวรรษที่ 18 และเป็นผู้นำของโลกในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจนถึงปัจจุบัน

การละคร
การละครในยุคกลาง มีละครเกี่ยวกับศาสนาเป็นหลัก คือ 1. Mystery Play – ประวัติชีวิตพระเยซู โดยกลุ่มอาชีพที่มีศาสตร์เป็น mystery (ความลับ) 2. Miracle Play – ปาฏิหาริย์นักบุญ และ 3. Morality Play - สอนศีลธรรม (เรื่องราวของตัวเอกชื่อ Everyman หรือ Mankind) ส่วนละครสุข-นาฏกรรมจะมีเพียงรูปแบบที่เรียกว่า jongleurs ซึ่งพัฒนามาจาก mime ของยุคโรมัน โดยจะมี stock characters ที่มีลักษณะท่าทางเฉพาะตัวและมีชื่อเรียก ต่อมา ในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ มีการศึกษารูปแบบและบทละครของกรีกและโรมันโบราณ และนำมาประยุกต์เป็นรูปแบบการละครในยุคนี้

ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการในอิตาลี
มีการพยายามนำเอาลักษณะของละครโศกนาฏกรรมของ Seneca มาแต่งเป็นบทละครโศก-นาฏกรรม กล่าวคือ เต็มไปด้วยความรุนแรง และความพยาบาท แต่ไม่ได้รับความนิยม ต่อมา มีผู้ศึกษาพบว่า ละครกรีกมีการขับร้อง จึงประยุกต์รูปแบบนี้มา ใช้ ใน ปี ค.ศ. 1574 ที่เวนิส กลายเป็นละครแบบที่เป็นต้นแบบของ Opera ที่เป็นที่นิยมอย่างยิ่งต่อมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในคริสตศตวรรษที่ 17

ในส่วนของสุขนาฏกรรม มีการประยุกต์เรื่องราวในบทละครของกรีกและโรมันโบราณมาใช้ บทละครสุขนาฏกรรมของอิตาลีหลายเรื่อง เป็นต้นแบบของโครงเรื่องของบทละครของเช็คสเปียร์ในประเทศอังกฤษต่อมา อย่างไรก็ตาม ละครสุขนาฏกรรมลักษณะนี้ ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควรในอิตาลี เพราะเขียนขึ้นเพื่อแสดงในหมู่คนชั้นสูงเท่านั้น แต่ละครสุขนาฏกรรมรูปแบบที่ได้รับความนิยมมากกว่า กลับเป็นละครรูปแบบที่เรียกว่า commedia dell’ arte ซึ่งพัฒนาต่อมาจาก jongleurs ในยุคกลาง โดยเริ่มแพร่หลายในช่วงคริสตศตวรรษที่ 16 และส่งอิทธิพลต่อไปยังประเทศอื่น ๆ ในยุโรปด้วยในเวลาต่อมา commedia dell’ arte เป็นลักษณะละครสุขนาฏกรรมที่มีตัวละครเป็นแบบ stock หรือ type characters (คือมีลักษณะทางร่างกายและชุดเฉพาะตัว เช่น Puccinella = ชายหลังค่อม จมูกงุ้ม มีรอยย่นที่เหนือคิ้ว และใส่หน้ากากสีเข้ม) และมีการเล่นสด (improvisation) จากบทบรรยายแต่ละฉากที่เขียนไว้เพียงสั้น ๆ เท่านั้น ความนิยมใน commedia dell’ arte มีส่วนทำให้ไม่มีการสร้างสรรค์บทละครที่ยิ่งใหญ่เท่าที่ควรในยุคฟื้นฟู ฯ ในอิตาลี

ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการในประเทศอังกฤษ (คริสตศตวรรษที่ 16-ต้น 17)
ละครในยุคนี้ เติบโตที่สุดในประเทศอังกฤษ เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบ็ธที่ 1 โดยเป็นการละครที่ได้รับอิทธิพลจากนักเขียนบทละครโรมัน เช่น Seneca กล่าวคือ ลักษณะการมี 5 องก์ และ แก่นเรื่องความพยาบาทและการแก้แค้น รวมทั้งการปรากฏตัวของวิญญาณ และ Plautus ในแง่ของโครงเรื่องสุขนาฏกรรม เช่น การผิดฝาผิดตัวของฝาแฝด

คริสโตเฟอร์ มาร์โลว์ (Chirstopher Marlowe : ค.ศ. 1564-1593) เขียนโศกนาฏกรรม เช่น The Tragical History of Doctor Fautus จากตำนานของเยอรมัน เป็นเรื่องของชายชื่อ เฟาสตัส ที่ขายวิญญาณให้พญามารและกับอำนาจเหนือมนุษย์เป็นเวลา 24 ปี
วิลเลียม เช็คสเปียร์ (William Shakespeare : ค.ศ. 1564-1616) มีผลงานบทละครหลายประเภทรวม 37 เรื่องในเวลาเพียง 25 ปี
เบน จอนสัน (Ben Jonson : ค.ศ. 1572-1637) นักเขียนบทละครสุขนาฏกรรม ในลักษณะ “comedy of humours” หรือ ละครตลกแบบสมจริง สร้างมุขตลกจากพฤติกรรมของมนุษย์

ละครของอังกฤษ จะใช้เฉพาะผู้ชายในการแสดง

ยุคนีโอคลาสสิกในประเทศฝรั่งเศส (คริสตศตวรรษที่ 17)
ความมั่นคงและความมั่นคงของฝรั่งเศสในยุคของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทำให้การละครของฝรั่งเศสในยุคนี้ เฟื่องฟูตามไปด้วย การละครในยุคนี้ มีการควบคุมกฎเกณฑ์โดยบัณฑิตยสถานแห่งฝรั่งเศส (Academie Francaise)

ละครในยุคนี้ นำเอาหลักเอกภาพ (unity) ที่อริสโตเติล นักปรัชญากรีกเขียนไว้ใน Poetics มาตีความใช้เป็นกฎเกณฑ์กำหนดไว้ โดยละครที่ดี จะต้องมีเอกภาพ 3 ด้านดังนี้
1. เอกภาพในด้าน เวลา (time) (เหตุการณ์ต้องเกิดและจบภายใน 24 ชั่วโมง)
2. เอกภาพในด้านสถานที่ (place) (ใช้สถานที่เดียว โดยคำนึงว่าระยะทางที่เกิดขึ้นในเรื่องต้องเป็นไปได้ในเวลาอันจำกัดดังกล่าว)
3. เอกภาพในด้านการกระทำ (action) โดยที่โครงเรื่อง (plot) จะเน้นเพียงสิ่งเดียว

นอกจากนี้ ยังมีการมุ่งเน้นความบริสุทธิ์ของประเภทของละคร (purity of genres) กล่าวคือ
จะไม่มีการปะปนกัน ระหว่าง ลักษณะโศกนาฏกรรมและสุขนาฏกรรม ในบทละคร ทั้งนี้ ละครยังต้องมีจุดมุ่งหมายที่ดีงาม กล่าวคือ เพื่อให้แง่คิดเชิงศีลธรรมอีกด้วย ละครของฝรั่งเศส จะมีการใช้ผู้แสดงเป็นชายจริงและหญิงแท้

นักเขียนบทละครที่สำคัญในยุคนี้ สำหรับโศกนาฏกรรม ได้แก่ Pierre Corneille เช่น เรื่อง Le Cid และ Jean Racine เช่น เรื่อง Phedre (หรือ Phaedra) และสำหรับสุขนาฏกรรม ได้แก่ Moliere เช่น เรื่อง Misanthrope และ L’Avare (The Miser) ที่ได้รับอิทธิพลจากเรื่อง The Pot of Gold ของ Plautus ในยุคโรมันโบราณ

ลักษณะโรงละคร ในอังกฤษ

โรงละครในอังกฤษเป็นโรงละครกลางแจ้ง ไม่มีหลังคา และจัดแสดงละครในช่วงบ่ายโดยใช้แสงธรรมชาติจากดวงอาทิตย์ เวทีจะยื่นเข้าไปในสนามหญ้า โดยมีหน้ากว้างประมาณ 43 ฟุต ยาว 27 ½ ฟุต ผู้ดูสามารถยืนล้อมเวทีได้ 3 ด้าน ส่วนยืนใกล้เวทีจะมีราคาถูกที่สุด ด้านหลังและข้าง ๆ ของเวทีจะมี ที่นั่งทำเป็นระเบียงยาว (galleries) ล้อมเป็นรูปเกือกม้าอยู่ มี 3 ชั้น (ดัดแปลงมาจากรูปแบบของโรงสู้หมี) เป็นที่นั่งของผู้ดูที่มีราคาแพงขึ้น ส่วนที่ราคาแพงที่สุด คือ Lord’s Room ซึ่งอยู่ด้านหลังเวทีพอดี เป็นที่ ๆ สามารถดูละครได้ใกล้ชิด และ สามารถให้คนอื่นเห็นผู้ดูที่นั่งอยู่ตรงนั้นได้ชัดเจนด้วยในเวลาเดียวกัน
เวทีจะมีม่านกั้นตรงด้านหลัง และจะมีการวาดภาพฉากบนม่าน ซึ่งสามารถดึงเปลี่ยนได้ ในส่วนของการตกแต่งฉาก จะมีไม่มาก เช่น มีการใช้โต๊ะและเก้าอี้ แทน บ้าน การใช้บัลลังก์ แทน วัง หรือ การใช้ต้นไม้ปลอม 2-3 ต้น แทน ป่า เป็นต้น

การเปลี่ยนฉาก จะแสดงให้เห็นด้วยการ เข้า-ออก ของ ตัวละคร ละครไม่มีการปิดม่าน จึงดำเนินต่อเรื่องไปเรื่อย ๆ โดยใช้บทเป็นตัวช่วย
เวทีจะมีช่องที่เปิดลงไปใต้เวทีได้ เรียกว่า trap ส่วนใต้เวทีจะเป็นส่วนที่เรียกว่า นรก (hell) เป็นส่วนที่ให้ปีศาจหรือวิญญาณออกมาและหายตัวไป ส่วนเหนือเวทีตรงเพดานข้างบน จะเรียกว่า สวรรค์ (heaven) ซึ่งมีรอกที่ใช้ชักเทวดาลงมาได้ และวาดเป็นรูปท้องฟ้าและจักรราศี (ได้รับอิทธิพลเวทีละครศาสนาในยุคกลาง)

ส่วนรอบเวทีนั้น จะมีการแขวนระบายผ้า เพื่อปิดโครงไม้ใต้เวที โดยจะเปลี่ยนสีและลายไปตามอารมณ์ของเรื่อง เช่น สีดำ สำหรับละครโศกนาฏกรรม สีขาว แดง หรือ เขียว สำหรับ ละครอิงประวัติศาสตร์ ละครสุขนาฏกรรม และ ละครเกี่ยวกับชีวิตในชนบท
ในส่วนของ เสียงประกอบการแสดง จะมีการทำเสียงประกอบด้วยอุปกรณ์ง่าย ๆ เช่น ใช้การเคาะกระทะทำเป็นเสียงฟ้าร้อง หรือ การใช้เสียงระฆังช่วยบอกเวลา ในส่วนของการใช้เทคนิคประกอบการแสดง มีการจุดดอกไม้ไฟ ทำเป็นฟ้าผ่า

ในฝรั่งเศสและอิตาลี
โรงละครได้รับอิทธิพลมาจากรูปแบบอาคาร ของ โรงละครโรมัน แต่เป็นการใช้ฉากวาดแทนการสร้างอาคารจริง ส่วนต่าง ๆ ของเวทีละคร มีดังนี้
1. borders – เป็นม่านเหนือเวที เพื่อความสวยงาม และ ซ่อนไฟได้
2. proscenium arch – กรอบแบ่งระหว่างเวทีด้านหน้าที่เป็นส่วนแสดง กับฉากด้านหลัง
3. apron (forestage) – การแสดงจะเล่นตั้งแต่ปีกคู่หน้าสุด ถึง apron
4. wings – ปีก จัดวางไว้ข้างเวทีเป็นคู่ ๆ ทำจากผ้าขึงบนกรอบไม้ วาดภาพ (เช่นอาคาร) ที่จะนำสายตาไปสู่ฉากหลัง (back drop) พื้นของเวทีระหว่างปีกจะลาดขึ้นสู่ ฉากหลังเพื่อนำสายตา และไม่ได้ใช้สำหรับเล่น
5. back drop – ฉากหลัง เป็นภาพวาดฉากที่สามารถเปลี่ยนได้โดยใช้ล้อเลื่อนจากใต้เวที การวาดฉาก จะวาดจากจุดที่มีมุมมองที่ดีที่สุดในโรงละคร คือ ที่ที่กษัตริย์จะประทับ (ตรงกลาง) ทั้งนี้ นักแสดงมีฉากเป็นเพียง background เท่านั้น ได้ไม่ได้ใช้เป็นส่วนหนึ่งของการแสดง (environment) นักแสดงจะไม่เล่นกับฉาก แต่จะเล่นกับคนดู อาจมีบทเพียงแค่อ้างถึงฉากว่า “ตรงนั้น บ้านของข้า” เท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น