คำว่า บาโร้ค ( Baroque ) เป็นคำภาษาฝรั่งเศส มีที่มาจากภาษาอิตาเลี่ยน คำว่า บะร็อคโค่ ( Barocco ) ซึ่งมีความหมายว่า “ความหรูหราอลังการ หรือฟุ่มเฟือยเกินกว่าความจำเป็น” เป็นคำที่นักประวัติศาสตร์ศิลปะในช่วงปี ค.ศ.1860 ใช้เรียกช่วงระยะเวลาของรูปแบบศิลปะยุโรป ในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 17-18 เพื่อการแบ่งแยกช่วงระยะเวลาในทางประวัติศาสตร์ศิลปะ ในช่วงระยะ เวลาที่อยู่ระหว่างยุคเรอแนสซองส์ ( Renaissance ) และยุคสมัยใหม่ (Modern) โดยการใช้คำเรียก บาโร้ค นั้น แต่แรกจะจำกัดเฉพาะการเรียกงานศิลปะ ประเภทจิตรกรรม ประติมากรรม และ สถาปัตยกรรม เท่านั้น ซึ่งในเวลาต่อมาในทางสถาปัตยกรรม ก็ยังมีการแบ่งแยกออกเป็นศิลปะในยุค บาโร้ค และศิลปะในยุค ร็อคโคโค่ (Roccoco) เพื่อจำแนกความแตกต่างในรายละเอียดเกี่ยวกับการ ตกแต่งในทางสถาปัตยกรรมในฝรั่งเศสยุคคริสต์ศตวรรษที่ 17 และ 18 ออกจากกัน อย่างไรก็ดี มีข้อควรสังเกตว่า คำว่า “ยุคบาโร้ค” ( The Baroque Era ) นั้น เป็นคำเรียกในทางประวัติศาสตร์ศิลปะ (The History of Arts) เท่านั้น แต่จะไม่ใช้เรียกในทางประวัติศาสตร์สากล (The Political History) ซึ่งคำว่า “ประวัติศาสตร์และอารยธรรมยุโรปในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17-18” ดูจะเป็นคำที่เป็นทางการมากกว่า | |
ศิลปะในยุคบาโร้คนั้น แรกเริ่มถือกำเนิดขึ้นในประเทศอิตาลี ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 แล้วต่อมาค่อยแพร่หลายเข้าไปในประเทศฝรั่งเศส และมีพัฒนาการจนประเทศฝรั่งเศสกลายเป็นศูนย์กลางของศิลปะในยุคบาโร้ค ภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งทรงมีพระราชประสงค์จะให้ฝรั่งเศสเป็นศูนย์กลางของศิลปะวัฒนธรรมของยุโรปทั้งปวง จนถือได้ว่าศิลปะในยุคบาโร้ค เป็นเอกลักษณ์ของฝรั่งเศส จนถือเป็นแบบฉบับที่มีอิทธิพลแพร่หลายไปสู่ประเทศอื่น ๆ จนเรียกกันทั่วไปว่า French Baroque Arts | |
โดยเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมในยุคบาโร้ค คือ การแต่งเติมลวดลายต่าง ๆ นานาให้แลดูวิจิตรอลังการ โดยลวดลายที่ใช้ส่วนใหญ่ คือ ลายใบไม้ ดอกไม้ ช่อดอกไม้ เส้นสายที่ใช้ ส่วนมากจะใช้เส้นโค้งที่อ่อนช้อย แต่จะใช้การจัดวางให้มีลักษณะสมมาตร มีการใช้ลวดลายประดับประดาจนดูหนา และรกเกินความจำเป็น สีที่ใช้ประดับตกแต่ง มักจะเป็น สีทอง เพื่อตัดกับสีอื่น ๆ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมั่งคั่ง โอ่อ่า หรูหรา ขนาดของสิ่งก่อสร้าง ก็มักจะออกแบบให้มีลักษณะเช่นเดียวกัน คือ ให้มีขนาดกว้างขวาง เพดานสูงโปร่ง และประดับลวดลายปูนปั้นวิจิตรบรรจง ประดับด้วยศิลปวัตถุที่ล้ำค่า เช่น ภาพวาดสีน้ำมันประดับกรอบสีทอง เครื่องกระเบื้องเคลือบประดับด้วยทองคำ หรือเครื่องแก้วเจียระไนประดับด้วยทองคำ เป็นต้น ตัวอย่างของสถาปัตยศิลป์ในสมัยบาโร้ค ที่สมบูรณ์แบบและสำคัญ ได้แก่ การตกแต่งภายในมหาวิหารนักบุญเปโตร นครวาติกัน ฝีมือของ แบร์นินี่ ( Bernini ) และการออกแบบตกแต่งพระราชวังแวร์ซายส์ของมองซาร์ท ( Mansart ) และ เลอ โว ( Le Vau) Le Galerie des Glaces ; Le Chateau de Versailles | |
ส่วนศิลปะด้านอื่น ๆ เช่น จิตรกรรม ประติมากรรม วรรณกรรม เริ่มหลุดพ้นจากการครอบงำทางความคิดจากศาสนาคริสต์ ซึ่งเป็นผลมาจากการปฏิรูปศาสนาในช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ 16 ทำให้ผู้คนหลุดพ้นจากกรอบความคิด และแนวความคิดทางศาสนา หันมาสนใจเรื่องนอกศาสนามากยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จาก ความนิยมในการนำเอา เทวปกรณัมกรีก-โรมัน ซึ่งเคยถือว่าเป็นเรื่องนอกรีต ( Heretic ) มาศึกษาและนำมาใช้เป็นพื้นฐานของการสร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะในยุคบาโร้คกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งศิลปะบาโร้คในรูปแบบทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ ก็เป็นไปเพื่อแสดงให้เห็นถึงความหรูหรามั่งคั่งทางวัตถุ และเป็นเครื่องแสดงฐานะทางสังคมในยุคสมัยนั้น ซึ่งนับได้ว่าเป็นช่วงระยะเวลาที่มีช่องว่างทางสังคมและเศรษฐกิจระหว่างชนชั้นมากที่สุด Francois Boucher's "The Kidnapping of Europa" | |
ส่วนการนำคำว่า บาโร้ค มาใช้ในทางการดนตรีนั้น ผู้ที่นำคำว่า บาโร้ค มาใช้เป็นคำเรียกชื่อยุคหนึ่งในทางประวัติศาสตร์ดนตรี เป็นคนแรก คือ คุต ซาชส์ ( Curt Sachs ) ศาสตราจารย์ทางการดนตรีชาวเยอรมันในยุคต้นคริสตศตวรรษที่ 20 โดยในปี ค.ศ.1919 เขาได้ใช้คำว่า บาโร้ค ในตำราประวัติศาสตร์ดนตรีที่เขาประพันธ์ขึ้น เพื่อเป็นการระบุถึงยุคของดนตรียุคหนึ่ง ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 17-18 หรือ โดยเฉพาะเจาะจง คือ ในช่วง ปี ค.ศ.1600 – 1750 เพื่อประโยชน์ในการแบ่งแยกช่วงว่างของเวลา ระหว่างดนตรีในยุคก่อนหน้า (คือยุคเรอแนสซองส์ ) และดนตรีในยุคต่อมา (คือยุคคลาสสิค) จนในเวลาต่อมา ราว ค.ศ.1960 คำว่า ดนตรีในยุคบาโร้ค ( Baroque Music ) จึงเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป ว่า หมายถึง ยุคสมัยหนึ่งในประวัติศาสตร์การดนตรี ที่เฉพาะเจาะจงว่าเป็นดนตรีสากลที่มีเอกลักษณ์ซึ่งเป็นที่นิยมในยุโรป ในช่วงประมาณ ค.ศ.1600 – 1750 โดยทั้งนี้ก็มีความสอดคล้องกันกับพัฒนาการทางศิลปะแขนงอื่น ๆ ในช่วงยุคเดียวกัน ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า ดนตรีในยุคบาโร้คนั้น เปี่ยมไปด้วยความหรูหรา โออ่า สง่างาม อลังการ และวิจิตรบรรจงในรายละเอียดมาก อันเป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากดนตรีในยุคอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น