วันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2555
“ซองเครื่องปรุง” ละลายน้ำได้ บริโภคได้ ผลิตจากฟิล์มเจลาตินหนังปลา และยังสะดวกรวดเร็วเหมาะแก่ชีวิตเร่งรีบ ทำตลาดได้กับผู้บริโภคทุกศาสนาและหวังต่อยอดเชิงพาณิชย์ในอนาคต
ศ. ดร.สุทธวัฒน์ เบญจกุล เมธีวิจัยอาวุโส สกว. จากภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เผยถึงผลงานวิจัยระดับปริญญาเอกของ นายภควรรษ ทองนวลจันทร์ นักศึกษาในภาควิชาจากสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร ซึ่งได้พัฒนาถุงชนิดละลายน้ำสำหรับบรรจุน้ำมันและผงปรุงรสที่สามารถบริโภคได้
งานวิจัยดังกล่าวยังมี ผศ. ดร.ธรรมนูญ โปรดปราน เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ร่วม และได้การสนับสนุนจากฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ภายใต้โครงการเมธีวิจัยอาวุโส สกว.
ศ. ดร.สุทธวัฒน์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำจำนวนมาก ในขั้นตอนกระบวนการแปรรูปสัตว์น้ำโดยเฉพาะปลาและหมึก ก่อให้เกิดวัสดุเศษเหลือในปริมาณมาก เช่น หนัง ซึ่งโดยทั่วไปมักนำมาใช้ในการผลิตอาหารสัตว์หรือปุ๋ยที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจต่ำ จึงเกิดแนวคิดนำหนังปลามาเป็นวัสดุตั้งต้นสำหรับผลิตบรรจุภัณฑ์บริโภคได้และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นแนวทางในการใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับวัสดุเศษเหลือดังกล่าว ตลอดจนได้บรรจุภัณฑ์ชนิดใหม่ที่สามารถเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภค
ฟิล์มเจลาตินจากหนังปลาที่คณะวิจัยพัฒนาขึ้นนั้นเป็นฟิล์มที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพและสามารถบริโภคได้ โดยสามารถใช้เป็นทางเลือกใหม่ของวัสดุสำหรับงานบรรจุภัณฑ์ ฟิล์มดังกล่าวมีสมบัติเด่น คือสามารถป้องกันการซึมผ่านของก๊าซและสารระเหยต่างๆ ป้องกันการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ภายนอก หรือทำหน้าที่เก็บกักสารเติมแต่งอาหาร เช่น วัตถุกันเสีย สารช่วยรักษากลิ่นรส ตลอดจนทำหน้าที่ป้องกันความเสียหายให้อาหารระหว่างการลำเลียงและการขนส่ง เนื่องจากแผ่นฟิล์มจากเจลาตินมีสมบัติการละลายน้ำได้ดี โดยเฉพาะน้ำร้อน
ทางคณะผู้วิจัยได้นำฟิล์มเจลาตินจากหนังปลาไปพัฒนาต่อยอดเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับบรรจุผงปรุงรสและน้ำมัน ซึ่งสามารถใช้กับอาหารกึ่งสำเร็จรูป เช่น บะหมี่ หรือเส้นหมี่พร้อมปรุง เพื่อลดการใช้บรรจุภัณฑ์จากพลาสติก หรือพอลิเมอร์สังเคราะห์ ทำให้ลดปัญหาการทิ้งหรือกำจัดบรรจุภัณฑ์ดังกล่าว ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานในการสลายตัวตามธรรมชาติ จึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวยังเป็นแหล่งของโปรตีน ผู้บริโภคเพียงเติมน้ำร้อนลงในภาชนะที่บรรจุอาหารและบรรจุภัณฑ์ซึ่งบรรจุสารปรุงแต่งต่าง ๆ โดยไม่ต้องมีการฉีกหรือตัดบรรจุภัณฑ์เพื่อนำเครื่องปรุงออกมา
นอกจากนี้การวิจัยยังได้พัฒนาปรับปรุงสมบัติของฟิล์มเจลาตินที่มีข้อด้อย คือ มีสมบัติการป้องกันการซึมผ่านไอน้ำต่ำ ด้วยการพัฒนาฟิล์มเจลาตินชนิดใหม่ให้มีคุณสมบัติลดการซึมผ่านไอน้ำ และสามารถปิดผนึกเป็นถุงหรือบรรจุภัณฑ์ได้ด้วยความร้อน โดยมีความแข็งแรงมากพอสำหรับบรรจุของเหลว เช่น น้ำมัน และของแห้ง เช่น ผงปรุงรสต่างๆ
“ถุงบรรจุเครื่องปรุงจากเจลาตินจากหนังปลาสามารถใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ฮาลาล และสามารถใช้ได้กับผู้บริโภคทุกศาสนาและเชื้อชาติ ละลายได้ง่ายในน้ำร้อนที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 45 องศาเซลเซียส โดยใช้เวลาไม่ถึง 1 นาที ซึ่งน่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์ใหม่ สำหรับผลิตภัณฑ์จำพวกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่จำเป็นต้องเติมน้ำร้อนหรือปรุงก่อนบริโภค โดยผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องฉีกและทิ้งบรรจุภัณฑ์ของเครื่องปรุงต่างๆ ทำให้เกิดความสะดวกกับผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่ต้องรีบเร่งและต้องการความสะดวกสบาย ทั้งนี้หวังว่าในอนาคตจะมีการต่อยอดนำผลงานวิจัยนี้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์” ศ. ดร.สุทธวัฒน์กล่าว
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น