เล่าเรื่อง ช้าง สัญลักษณ์ชาติไทย ร่วมใจอนุรักษ์ก่อนสูญพันธุ์!
เล่าเรื่อง ช้าง สัญลักษณ์ชาติไทย ร่วมใจอนุรักษ์ก่อนสูญพันธุ์! (เดลินิวส์)
หลายครั้งที่มีข่าว "ช้าง" ประสบอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตทำให้รู้สึกสะเทือนใจอย่างยิ่ง และหากจะย้อนเหตุการณ์อันน่าสลดนี้กลับไปคงมีอีกหลายๆ ครั้งที่เรามักจะเห็นข่าวการสูญเสียช้าง สัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทยอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น "พังกำไล" ที่ต้องสังเวยชีวิตจากอุบัติเหตุรถบรรทุกช้างเบรกแตกชนไหล่เขาจนได้รับบาดเจ็บสาหัสที่จังหวัดสระแก้ว ซึ่งแพทย์ไม่สามารถยื้อชีวิตไว้ได้ต้องจากไปอย่างน่าเวทนา
วันเดียวกันกับที่พังกำไลประสบอุบัติเหตุเหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัดของ "พลายสมใจ" อายุ 8 ปี น้อยกว่าพังกำไล 2 ปี เจ้าของไม่ได้ล่ามโซ่ไว้ ออกไปเดินหาอาหารกินในกองขยะ ด้วยความซุกซนจึงใช้งวงรื้อขยะหยิบยาฆ่าหญ้ามากินจนเสียชีวิตที่จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมามีเหตุร้ายเกิดขึ้นกับ "พลายพลุ" ลูกช้างวัย 3 ปี ตกท่อคอนกรีตเสริมเหล็กขณะควาญช้างพาเดินบนถนนทำให้ลูกช้างได้รับบาดเจ็บที่จังหวัดระยอง ล่าสุดควาญช้างพา "พังปวีณา" วัย 5 ปี เดินผ่านบริเวณที่มีการซ่อมผิวถนนไปเหยียบบริเวณที่มีไฟฟ้ารั่วถูกไฟช็อตตายอย่างอนาถ
นี่เป็นเพียงสาเหตุส่วนหนึ่งที่พรากชีวิตช้างที่เป็นสัตว์ใหญ่ กล้าหาญ ทำงานหนักเพื่อบ้านเมืองเรามาตลอดตั้งแต่ครั้งโบราณกาล โดยในสมัยก่อนช้างเป็นสัตว์ที่ใช้ในการรบ ช้างศึกจึงเป็นของสำคัญของบ้านเมือง แต่ปัจจุบันนี้ "ช้างไทย" มีคุณภาพชีวิตที่แย่ลงและกำลัง เข้าสู่ภาวะสูญพันธุ์ ด้วยสาเหตุนานัปการ วรวิทย์ โรจนไพฑูรย์ ผู้อำนวยการสถาบันคชบาลแห่งชาติ องค์การอุตสหกรรม จ.ลำปาง เล่าย้อนถึงบรรพบุรุษช้างว่า เริ่มจากเมื่อประมาณ 50 ล้านปีที่ผ่านมา โลกของเรามีบรรพบุรุษช้างเกิดขึ้นมาตัวแรกชื่อ โมเออริเทอเรียม (Moeriterium) ที่ทะเลสาบโมเออริส ประเทศอียิปต์ จึงตั้งชื่อตามสถานที่ที่ค้นพบ มีรูปร่างไม่เหมือนช้างในปัจจุบันแต่คล้าย ฮิปโปโปเตมัส ลำตัวยาว ขาสั้น สูงประมาณ 60 เซนติเมตร ไม่มีงวง
ถึงแม้บรรพบุรุษช้างจะมีรูปร่างหน้าตาแตกต่างกับช้างในปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง แต่สิ่งที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทราบแน่ชัดคือกะโหลกหัวมีโพรงอากาศเหมือนช้างรุ่นปัจจุบันและมีงาเล็กๆ งอกจากขากรรไกรล่าง หลังจากมีโมเออริเทอเรียมเกิดขึ้น สัตว์ในสกุลช้างได้ขยายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ต่างๆ มีรูปร่างหน้าตาแตกต่างกันออกไปแต่ลักษณะสำคัญๆ เช่น กะโหลกและฟันยังคงอยู่ร่วมกัน ช้างโบราณบางสายพันธุ์มีงาสองคู่ คือ งอกจากทั้งขากรรไกรบนและล่าง
ช้างยุคแรกมีถิ่นอยู่ในทวีปแอฟริกาจนกระทั่งประมาณ 26 ล้านปีก่อนลูกหลานของโมเออริเทอเรียมอพยพเคลื่อนย้ายไปยังดินแดนต่างๆ ทั่วโลกยกเว้นออสเตรเลียกับแอนตาร์ก จากนั้นบรรพบุรุษช้างได้พัฒนาสายพันธุ์แตกหน่อออกไปอย่างไม่หยุดยั้งนับร้อยสายพันธุ์ แต่บางสายพันธุ์ปรับตัวไม่ได้ก็ค่อยๆ สูญพันธุ์ไป บางสายพันธุ์ปรับตัวได้ก็อยู่ได้ จนกระทั่งประมาณ 10,000 ปี ที่ผ่านมาลูกหลานของบรรพบุรุษช้างเหลืออยู่ 2 สายพันธุ์ คือ ช้างแอฟริกา และช้างเอเชีย
ช้างแอฟริกาที่สมบูรณ์เต็มที่จะสูงกว่าช้างเอเชียและมีงาทั้งตัวผู้และตัวเมีย ส่วนช้างเอเชียมีขนาดเล็กกว่าช้างแอฟริกา ตัวผู้มีงายาวเรียก ช้างพลาย ถ้าไม่มีงาเรียก ช้างสีดอ ส่วนตัวเมียจะไม่มีงาเรียก ช้างพัง โดยช้างเอเชียแบ่งออกเป็น 4 สายพันธุ์ย่อย ได้แก่ 1.ช้างสายพันธุ์สีลังกาหรืออินเดียใต้ 2.ช้างสายพันธุ์อินเดีย ซึ่ง ช้างไทยก็อยู่ในสายพันธุ์อินเดีย นี้รวมทั้งช้างพม่า ลาว เวียดนามด้วย 3.ช้างสายพันธุ์สุมาตรา และ 4.ช้างสายพันธุ์บอร์เนียว
ในอดีตประเทศไทยมีช้างเลี้ยงและช้างป่าประมาณ 100,000 เชือก ปัจจุบันจำนวนประชากรช้างไทยลดน้อยลงอย่างน่าใจหายเหลือเพียงประมาณ 5,000 กว่าเชือก แบ่งเป็นช้างป่าประมาณ 2,400 ตัว และช้างเลี้ยง ประมาณ 3,000 เชือก สาเหตุที่ช้างเลี้ยงลดน้อยลงเนื่องจากเจ้าของพาช้างแยกย้ายกันไปทำงาน ทำให้โอกาสที่ช้างตัวผู้และตัวเมียจะอยู่ใกล้ชิดและผสมพันธุ์กันมีน้อยมาก ซึ่งทางศูนย์พยายามใช้วิธีการผสมเทียม เพื่ออนุรักษ์พันธุ์ไว้ เพราะปัจจุบันพี่น้องช้างที่อยู่แวดวงใกล้เคียงกันมักมีปัญหาผสมพันธุ์กันเองทำให้เกิดพันธุ์ด้อย ที่ผ่านมาก็ประสบความสำเร็จสามารถใช้น้ำเชื้อผสมเทียมได้ลูกช้างแล้ว ทำให้ลดปัญหาด้านสายพันธุ์หรือช้างตัวเมียมดลูกผิดปกติหรือไม่ยอมให้ตัวผู้ผสมพันธุ์
ส่วนสาเหตุของช้างป่าของไทยที่ลดน้อยลง ก็เนื่องจากมนุษย์บุกรุกพื้นที่ป่ารวมทั้งลักลอบค้าช้างป่า ทำให้พื้นที่ป่าและแหล่งน้ำเหลือน้อยลง ส่งผลให้ช้างป่าไม่มีอาหารกินจึงอพยพไปอยู่ที่อื่น นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆ อีก เช่น ช้างเพศเมียที่ผสมพันธุ์แล้วจะใช้เวลาในการตั้งท้องนานถึง 19-22 เดือน กว่าจะได้ลูกช้างแต่ละเชือกนานมาก และช้างที่ถูกเจ้าของหรือควาญนำมาเร่ร่อนเกิดอุบัติเหตุบ้างอย่างที่เห็นเป็นข่าว บางเชือกเจ้าของไม่มีประสบการณ์เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยก็ไม่สามารถดูแลรักษาได้ ทำให้มีอัตราการตายมากกว่าการเกิด โดยจากสถิติพบว่า อัตราการตายของช้างไทยมีมากถึง 150 เชือกต่อปี ถือว่ามากกว่าอัตราการเกิดในแต่ละปี จึงทำให้ประชากรช้างเข้าสู่สภาวะใกล้สูญพันธุ์เต็มที
ดังนั้นการดูแลรักษาช้างให้มีสุขภาพ และคุณภาพชีวิตที่ดีนั้น ผู้อำนวยการสถาบันคชบาลแห่งชาติ บอกว่า "คนเลี้ยงช้าง" หรือ "ควาญช้าง" มีส่วนสำคัญต่อช้างมากที่สุด ทางสถาบันฯ จึงได้ร่วมกับมูลนิธิ เอเชียเฮ้าส์ประเทศเดนมาร์ก จัดทำโครงการฝึกอบรมควาญช้างในการดูแลช้างในประเทศไทยขึ้น โดยรุ่นแรกอบรมไปแล้ว เมื่อ วันที่ 9-11 สิงหาคม 2552 เพื่อให้ควาญช้างมีประสบการณ์ ความรู้เบื้องต้นในการเลี้ยงช้าง เช่น ช้างที่มีสุขภาพดีจะไม่ผอมไม่ซึม ต้องอ้วนท้วนสมบูรณ์หูและหาง พัดโบกแกว่งไกวตลอด หากมีอาการผิดปกติต้องรีบแจ้งแพทย์มาตรวจเพราะอาจจะเจ็บป่วยได้ นอกจากนี้ยังอบรมในเรื่องของสถานะช้างไทย กฎหมายเกี่ยวกับช้าง และอื่นๆ ซึ่งควาญช้างที่อบรมแล้วจะมีความรู้สามารถนำไปถ่ายทอดฝึกสอนควาญช้างคนอื่นๆ ต่อไปได้เพื่อให้ช้างไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและในอนาคตข้างหน้าจะได้ไม่สูญพันธุ์
ช้างเป็นสัญลักษณ์ของชาติไทยและอยู่คู่บ้านเมืองเรามาโดยตลอด ยามศึกก็ช่วยรบจนสามารถกอบกู้เอกราชมาให้ประเทศได้ในหลายครั้ง หรือแม้กระทั่งยามบ้านเมืองสงบช้างก็ช่วยขนย้ายซุงหรือของหนักรวมทั้งเป็นพาหนะเพื่อแบ่งเบาภาระให้เราอีกมากมายมาหลายชั่วอายุคน
ถึงเวลาแล้วที่เราจะช่วยกันอนุรักษ์สัตว์ใหญ่ที่มีค่าของชาติให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติไทยของเราสืบไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น